วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2551

Safe place in the future (?): ปลอดภัยสถาน (?)

Safe place in the future (?): ปลอดภัยสถาน (?)
โครงการนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยเพื่อค้นหาและจินตนาการภาพสถานที่อันปลอดภัย....

ที่มาของโครงการ
เดือนพฤษภาคม 2551 มีอุบัติภัยครั้งใหญ่เกิดขึ้นบนโลกในระยะเวลาใกล้เคียงกัน พายุไซโคลนนาร์กิสถล่มเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่าคร่าคนตายนับแสนคน ผ่านไปไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์เหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ มณฑลเสฉวน ประเทศจีนก็ปรากฏเป็นข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์ทั่วโลก ในขณะเดียวกันที่ประเทศไทยก็เริ่มมีผลวิจัยถึงพื้นที่รอยเลื่อนที่มีความเสี่ยงใน13จุด* ซึ่งอาจมีผลกระทบครั้งใหญ่หากมีการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้านอีกครั้ง และผลกระทบนั้นอาจจะรุนแรงจนนำไปสู่การเกิดน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศไทยได้ นอกเหนือจากเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงโลกแห่งศตวรรษที่21 นี้เข้าไว้ด้วยกัน(ในทางวินาศ)คืออุบัติภัย

*(1.รอยเลื่อนแม่จันและแม่อิง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ 2.รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนครอบคลุมแม่ฮ่องสอนและตาก 3.รอยเลื่อนเมยครอบคลุมตากและกำแพงเพชร 4.รอยเลื่อนแม่ทา ครอบคลุมเชียงใหม่,ลำพูนและเชียงราย 5.รอยเลื่อนเถินครอบคลุมลำปางและแพร่ 6.รอยเลื่อนพะเยาครอบคลุมลำปาง เชียงรายและพะเยา 7.รอยเลื่อนปัวครอบคลุมน่าน 8. รอยเลื่อนอุตรดิต์ ครอบคลุมอุตรดิตถ์ 9.รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ครอบคลุมกาญจนบุรีและราชบุรี 10.รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ครอบคลุมกาญจนบุรีและราชบุรี 11.รอยเลื่อนท่าแขก ครอบคลุมหนองคายและนครพนม 12.รอยเลื่อนระนองครอบคลุมประจวบคีรีขันธ์,ชุมพร,ระนอง และพังงา 13.รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ครอบคลุมสุราษฎร์ธานี, กระบี่และพังงา)

รายละเอียดโครงการ
โครงการนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย Safe place in the future: ปลอดภัยสถาน เป็นนิทรรศการศิลปะที่ร่วมกันจินตนาการและตีความเพื่อแสวงหาพื้นที่อันปลอดภัยในอนาคต นับเนื่องมาจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่ได้อุบัติขึ้นอยู่บ่อยครั้งเป็นเหตุให้มนุษย์และสัตว์ที่ได้พำนักอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ บ้างก็เคยประสบต่อภัยธรรมชาตินี้โดยตรง แต่หากว่ายังไม่เคยประสบก็ย่อมมีผลกระทบจากความรุนแรงดังกล่าว ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่ใช่ปัจจุบันก็อาจจะเป็นอนาคต หรือหากไม่เกิดขึ้นที่ตัวเราก็อาจจะเกิดขึ้นที่ลูก หลาน เหลน ของเรา ภัยธรรมชาติดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะมีความถี่และรุนแรงมากขึ้น แต่ไม่ว่าผลกระทบเหล่านี้จะมาในทางใดหรือรูปแบบไหน มนุษย์ผู้มีส่วนร่วมในการแชร์พื้นที่บนโลกใบนี้ ในฐานะที่เป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำก็น่าที่จะมีส่วนร่วมในการตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาใหญ่แห่งศตวรรษที่ 21 นี้ บ้างไม่มากก็น้อย

งานแสดงศิลปะกลุ่มภายใต้หัวข้อ Safe place in the future: ปลอดภัยสถาน จึงเป็นการร่วมกันถ่ายทอดแนวคิดและมุมมองของศิลปินแต่ละคนภายใต้หัวเรื่องดังกล่าวต่อคำถามถึงการแสวงหาพื้นที่อันปลอดภัยในอนาคต และยังอาจตั้งอยู่บนเงื่อนของพื้นที่ กาลเวลา อนาคต จิตสำนึก และความเป็นส่วนตัว ดังนั้นแล้วนิทรรศการ Safe place in the future: ปลอดภัยสถาน จึงอาจจะมีบางส่วนที่คาบเกี่ยวระหว่างความจริงที่เป็นจริงกับความจริงที่เป็นความฝันแบบแนวคิดอุดมคติ (Utopia) ก็เป็นได้

นิทรรศการจะถูกนำเสนอผ่านงานศิลปะหลากหลายจากศิลปินไทย 5 คน อาทิเช่น ภาพถ่าย ประติมากรรม วิดีโอ อาร์ต ศิลปะจัดวาง ฯลฯ โดยเนื้อหาของผลงานสามารถจำแนกทฤษฎีที่มาได้หลากหลายทั้งเชิงสถาปัตยกรรม ภูมิศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา ศาสนา ประวัติศาสตร์ฯลฯ

ภัณฑารักษ์ : โสมสุดา เปี่ยมสัมฤทธิ์
ที่ปรึกษาโครงการ : กฤติยา กาวีวงศ์
ศิลปิน (คัดเหลือ 5 คน)
สุพิชชา โตวิวิชญ์ (สถาปนิก)
พิชญ์ มาตรเลี่ยม (ภาพถ่าย)
ศุภพงศ์ เหล่าธีรศิริ (สำรวจเชียงใหม่-เชียงราย)
ปฐวี วิรานุวัตร (วิดีโอ อาร์ต)
สันติภาพ อินกองงาม (Just a second-หนังสั้น)
อ๋อง คำเปิง
วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์
อริญชย์ รุ่งแจ้ง
อังกฤษ อัจฉริยโสภณ


วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ศิลปินได้เกิดการใช้ความคิดในการจินตนาการอย่างเป็นรูปธรรมถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนผ่านการทำงานศิลปะภายใต้หัวข้อ Safe place in the future: ปลอดภัยสถาน
2. เกิดการแบ่งปันมุมมองระหว่างผู้สร้างสรรค์งานและผู้ชมเพื่อนำไปสู่ประเด็นที่เปิดกว้างในการตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ผู้ชมได้รับรู้และตระหนักถึงผลกระทบที่ได้รับจากภาวะโลกร้อนในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม
นำไปสู่การเปิดกว้างในการวิจารณ์และการสร้างจินตนการอันหลากหลายของผู้ชมต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอันสามารถเกิดขึ้นจริงในสภาพการณ์ใกล้ตัวเรา
ทำให้เกิดการสร้างสำนึกต่อการป้องกันผลกระทบจากดลกร้อนด้วยการแสวงหาวิถีในการดำรงชีวิตที่รบกวนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง

กลุ่มผู้ชม
- ประชาชนทั่วไป
- นักศึกษา
- นักวิชาการและนักวิจารณ์ศิลปะ
- กลุ่มผู้ที่สนใจงานศิลปะ
- สื่อมวลชน

ประชาสัมพันธ์
- สื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์รายวัน / การ์ดเชิญ
- สื่ออิเลกทรอนิกส์ เช่น อีเมล์ / บล็อก

ระยะเวลาในการดำเนินงาน
มิถุนายน – สิงหาคม 2551 สำรวจหาศิลปิน
กันยายน – ตุลาคม 2551 สรุปรายชื่อศิลปิน/ศิลปินสำรวจข้อมูลเพื่อหาแนวทางในการสร้างผลงาน
พฤศจิกายน 2551- กุมภาพันธ์ 2552 ศิลปินสร้างสรรค์ผลงาน

สถานที่ - เวลา
แกลเลอรี่ เว่อร์ กรุงเทพฯ หรือ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร - มีนาคม 2552
มูลนิธิที่นา เชียงใหม่ – พฤศจิกายน 2552


ประวัติภัณฑารักษ์
โสมสุดา เปี่ยมสัมฤทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2522 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเอกประวัติศาสตร์ศิลปะ และสาขาวิชาโทพิพิธภัณฑ์ศึกษา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับพื้นที่ศิลปะจึงเริ่มต้นการทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ หอศิลป์ตาดู และแสวงหาประสบการณ์เพิ่มเติมในสายงานการจัดการทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมมาโดยตลอด อาทิเช่น เป็นผู้ช่วยภัณฑารักษ์ ในการจัดนิทรรศการศิลปะแสดงเดี่ยวครั้งยิ่งใหญ่ของอาจารย์ มณเฑียร บุญมา ในนิทรรศการ ตายก่อนดับ การกลับมาของมณเฑียร บุญมา ณ หอศิลป์ เจ้าฟ้า เป็นผู้ประสานงานโครงการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร(ในระยะเริ่มต้น) จนมาสู่การเป็นผู้ช่วยศิลปินชื่อดังในระดับนานาชาติ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ในนิทรรศการ Lost in the City / หลงกรุง นิทรรศการเฉลิมฉลองอายุ100ปีของนายห้างจิม ทอมป์สัน ปัจจุบันโสมสุดา ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ประสานงานฝ่ายกิจกรรมการศึกษา หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน


ประวัติที่ปรึกษาโครงการ
กฤติยา กาวีวงศ์ เกิดที่เชียงราย จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการบริหารงานศิลปะ จากสถาบันศิลปะชิคาโก เมื่อปี พ.ศ. 2539

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2539 กฤติยาเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของ Project 304 องค์กรศิลปะไม่แสวงหาผลกำไรและพื้นที่แสดงงานศิลปะในกรุงเทพฯ ที่มุ่งนำเสนอผลงานศิลปะร่วมสมัยหลากแบบในหลากหลายวัฒนธรรมจากทั้งศิลปินท้องถิ่นและศิลปินต่างประเทศ กฤติยายังทำงานร่วมกับเครือข่ายศิลปะในระดับภูมิภาคและระดับสากลในโครงการความร่วมมือทางศิลปะต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือกับศิลปินร่วมสมัยทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และสากล จัดแสดงงานที่พูดถึงประเด็นต่างๆ อาทิ กลุ่มวัฒนธรรมย่อย โลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนถ่ายวัฒนธรรม และความรู้สึกแปลกแยก

กฤติยาเคยจัดแสดงผลงานการคัดสรรให้นิทรรศการต่างๆมาแล้วมากมายทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ‘Alien(gener)ation’ ที่กรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น ปี พ.ศ. 2543-2546, ); ‘Under Construction’, ณ โตเกียวโอเปร่า ซิตี้ และเจแปนด์ ฟาวน์เดชั่น โตเกียว ปีพ.ศ. 2546, ‘Nothing, a retrospective by Kamin Lertchaiprasert and Rirkrit Tiravanija’ ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2547, ‘Interweaving Cultures’ ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน กรุงเทพ ปี พ.ศ. 2548, ‘Politics of fun’ ณ เฮาส์ ออฟ เดอะ เวิร์ด คัลเจอร์ เบอร์ลิน ปี พ.ศ. 2548, เทศกาลภาพยนตร์ทดลองกรุงเทพครั้งที่ 4 (BEFF), REDCATS ปี พ.ศ. 2549 ที่ลอส แองเจลิสและ ‘Saigon Open City’ project ปี พ.ศ. 2549-2550 ที่ประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ ยังเขียนบทความลงแคตตาล็อกนิทรรศการศิลปะในต่างประเทศ และนิตยสารศิลปะในไทย ตลอดจนได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในยุโรป เอเชิย และออสเตรเลียอยู่บ่อยครั้ง ปัจจุบันอาศัยและทำงานที่กรุงเทพในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายศิลปะของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน

ประวัติศิลปิน

สุพิชชา โตวิวิชญ์ จบปริญญาตรีและปริญญาโทโทจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโทอีกใบทางด้านงานพัฒนาเพื่อมนุษยชาติ(Humanitarian and Development Practice, Oxford Brookes University, United Kingdom of England) เป็นอาจารย์ประจำที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ Development Planning unit, UCL ขณะที่กำลังศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ สุพิชชาได้เป็นผู้ช่วยสอนที่ Design Studio ของโรงเรียนโดยเน้นเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานพัฒนาหลังมหันตภัยและงานพัฒนาชุมชน นอกจากนี้สุพิชชายังเคยจัดเวิร์คชอปสถาปัตยกรรมด้านงานพัฒนาชุมชนต่างๆ กับ Architecture San Frontier UK และเคยทำงานเป็น Volunteer architect ให้กับ NGO ที่อินเดียในช่วงสั้นๆอีกด้วย
พิชญ์ มาตรเลี่ยม จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีความสนใจเป็นพิเศษในการทำงานศิลปะกับพื้นที่สาธารณะ ปัจจุบันเป็นศิลปินในสำนัก Art Residence ในโครงการone year project 2 ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิที่นา จังหวัดเชียงใหม่ (ตุลาคม 2550 – ตุลาคม 2551) โครงการที่พิชญ์ได้ทำขณะที่อยู่ในโครงการ one year project เป็นเทคนิคการถ่ายภาพ snapshot การเฝ้าสังเกตความเป็นไป เปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของผู้คนและสถานที่ในชุมชนโดยรอบ

ศุภพงศ์ เหล่าธีรศิริ จบการศึกษาชั้นมัธยมจากจังหวัดเชียงราย ด้วยความสนใจในศิลปะร่วมสมัยทำให้ศุภพงศ์ตัดสินใจสมัครเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยชียงใหม่ สาขาจิตรกรรม แม้ว่ามักจะมีการกล่าวถึงจิตรกรรมในฐานะที่เป็นสื่อเก่า แต่สำหรับศุภพงศ์แล้ว เขากลับมีความสนใจที่จะนำกระบวนการทำงานจิตกรรมมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความร่วมสมัยด้วยกรรมวิธีใหม่โดยทดลองเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีส่วนช่วย หรือส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมของเขาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชักชวนอาสาสมัครหรือใช้กระบวนการเก็บข้อมูลภาคสนามโดยส่วนใหญ่งานศิลปกรรมของเขานั้นจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งคำถาม และด้วยความสนใจในประเด็นต่างๆ ของโลกร่วมสมัยทำให้เขาสร้างสรรค์งานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม เช่น สภาวะโลกร้อน เข้าร่วมจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะ Green and Blue Exhibition ณ อ่างแก้ว มหาวิทยาลัยชียงใหม่ ต่อมาเขาเข้าร่วมแสดงศิลปะสื่อแสดงสดในงานสัมมนา โลกร้อน วิกฤตที่มีโอกาส ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผลงานภาพของจิตรกรรมของศุภพงศ์ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมจัดแสดงในนิทรรศการต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่อย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันศุภพงศ์ยังคงศึกษาวิชาศิลปะ ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


แกลเลอรี่เว่อร์
เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะร่วมสมัย ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2548 โดยคุณฤกษ์ ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีในระดับนานาชาติ โดยหวังให้เป็นพื้นที่ในการส่งเสริมเพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยกับศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ที่ผ่านมาแกลเลอรี่เว่อร์ได้เปิดพื้นที่ให้กับการแสดงงานศิลปะร่วมสมัยให้กับศิลปินไทยและศิลปินนานาชาติมากมาย http://www.verver.org/

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ณ บริเวณสี่แยกปทุมวัน ดำเนินการบริหารโดยมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายใต้กรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมที่ครบถ้วนที่สุดในประเทศไทย รวมถึงเป็นพื้นที่ในการแสดงงานศิลปะระดับประเทศและระดับนานาชาติ หอศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งกรุงเทพมหานครจะเปิดให้บริการภายใน ปีพ.ศ. 2552

มูลนิธิที่นา
มูลนิธิที่นา ตั้งอยู่ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ถูกริเริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2541 จากแนวความคิดอันหลากหลายของศิลปิน เนื่องมาจากบริเวณที่ตั้งตรงจุดนั้นเคยเป็นที่นาแต่ประสบปัญหาจากปริมาณน้ำหนุนจึงทำให้ชาวนาไม่สามารถทำนาได้และเกิดการย้ายถิ่นฐานพื้นที่ทำกิน สิ่งที่น่าสนใจจากแนวคิดในการก่อตั้งของมูลนิธิที่นาที่สัมพันธ์กับนิทรรศการ Safe place in the future ปลอดภัยสถาน คือแนวคิดที่บอกว่าพื้นที่แห่งนี้ปราศจากความเป็นเจ้าของแต่เจตนาให้เป็นพื้นที่เปิดสำหรับคนในชุมชนที่จะทดลอง แสวงหา และชุมนุม พื้นที่แห่งนี้คล้ายกับวัดอันที่เป็นที่พึ่งพิงในยามยากมีหลังคาให้คลุมกาย หากหิวก็ปลูกข้าวกิน หากเจ็บไข้ก็ใช้สมุนไพรในพื้นที่มารักษา มูลนิธิที่นาจึงเปรียบเสมือนได้กับปลอดภัยสถาน http://www.thelandfoundation.org/

Art is still beautiful

Art is still beautiful

นิตรสาร Mars ฉบับที่ 66 เดือน เมษายน พ.ศ. 2551 หน้าที่ 146 - 147
เรื่อง > ฟองสมุทร
http://www.marsmag.net/?ref=http%3A//www.marsmag.net/s1000_obj/front_page/page/49.html&url=http%3A//www.marsmag.net/s1000_obj/front_page/page/83.html%3Fcontent_id%3D3131
ศิลปะกับความงามนั้นเป็นของคู่กันมานับแต่อดีต ความงามในทำนองเดียวกันก็มีความสัมพันธ์โดยตรงกับสุนทรียะ ในระหว่างที่สุนทรียะนั้นแปรเปลี่ยนไปตามกลไกและค่านิยมทางสังคม ความงามจึงแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและกาลเวลา ความงามในความหมายเดียวจึงไม่มีความเป็นนิรันดรแต่ปรับเปลี่ยนไปตามสภาวการณ์ของการรับรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา
การสร้างสรรค์ศิลปะโดยตัวของมันเองนั้นจึงเป็นกระบวนการที่ตอบโต้และท้าทายกับความงามและสุนทรียะ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ยิ่งศิลปะสมัยใหม่เป็นศิลปะในยุคสมัยแห่งการสงสัยและตั้งคำถามด้วยแล้ว ความงามจึงไม่อาจดำรงอยู่เฉย ๆ โดยปราศจากข้อสงสัยได้ นั้นจึงทำให้ดาราหญิงส่วนใหญ่ที่นมโตขึ้นอย่างผิดหูผิดตาต่างออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้พึ่งมีดหมอแทบทุกคน เนื่องจากกลัวการสงสัยและคำถามมากกว่ากลัวเจ็บนม
เมื่อศิลปะถูกสร้างโดยศิลปินแล้ว ศิลปินจึงเป็นผู้ที่ทำการทบทวนความงามที่ว่านั้นซ้ำไปซ้ำมา และสะท้อนออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เมื่อหลายปีก่อนศิลปินหญิงฝรั่งเศส Orlan มาจัดแสดงและบรรยายที่แกลเลอรี่ 100 ต้นสน เรื่องการท้าทายความงาม ความเจ็บปวด และศัลยกรรมตกแต่ง ซึ่งเธอสะท้อนออกมาในรูปแบบแสดงผ่านการถ่ายทอดสดออกอากาศ ซึ่งเธอทำมาตั้งแต่ยุคต้นทศวรรษ 1980 และถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยที่สำคัญยิ่ง
เรื่องความงามนี้แม้จะได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ในบ้านเราแต่ก็ไม่วายถูกท้าทาย หากแต่การท้าทายนั้นดำรงอยู่ในความหมายของการพัฒนามากกว่าที่จะตั้งคำถามกับมันอย่างตรงไปตรงมาซึ่งเรื่องนี้ นิก-ศุภพงศ์ เหล่าธีรศิริ ศิลปินหนุ่มจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอประเด็นดังกล่าวผ่านนิทรรศการ Beautiful (กรุงเทพมหานคร) อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศิลปกรรม Brand New 2008 โดยเขาได้ใช้กระบวนการทำวิจัย และการออกแบบสอบถามถึงการใช้เครื่องสำอางของหญิงสาวในกรุงเทพมหานครตามสถานที่ต่าง ๆ และนำผลการวิจัยนั้นมาแปรรูปเป็นงานจิตรกรรมที่เลือกใช้วัสดุที่บอกถึงองค์ประกอบของนิยามความงามของหญิงสาวในสถานที่ต่าง ๆ
ศุภพงศ์อาจจะไม่มองประเด็นความงามและสิ่งแปลกปลอมของความงามในความหมายที่รุนแรงอย่าง Orlan ซึ่งในขนาดที่เธอใช่ร่างกายของเธอเป็นการทดสอบและทดลองความงามนั้น เขากลับใช้กระบวนการวิจัยทางสังคมศาสตร์โดยมีสมมุติฐานในเรื่องการใช้เครื่องสำอางของผู้หญิงในกรุงเทพฯ แทน กลุ่มเป้าหมายนี้มีขนาด 1,000 คนและครอบคลุมพื้นที่ 10 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย่านสีลม ย่านสยามสแควร์ ย่านประตูน้ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ย่านรามคำแหง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ราชภัฏสวนดุสิต และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
โดยแต่ละแห่งนั้นได้ใช้แบบสอบถาม 100 ชุดมาประกอบการทำงานของเขา ซึ่งผลงานของเขาแสดงเป็นจิตรกรรม 10 ชุดประกอบที่หาได้เป็นการใช้สีสำหรับจิตรกรรมอย่างสีน้ำมันหรืออะครายลิก แต่วัสดุพื้นฐานกลับได้แก่เครื่องสำอางท็อปฮิตอย่างบลัชออน ลิปสติก และสีทาเล็บ โดยที่เขาให้ข้อสังเกตว่า …ผลงานของผมในครั้งนี้ ก็คือผลงานของผู้หญิงอีกหนึ่งพันคนด้วยเช่นกัน…
งานจิตรกรรมในคุณสมบัตินี้นาน ๆ จะเกิดสักครั้งในบ้านเรา แต่หวังว่าในอนาคตจะมีให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากทิศทางจิตรกรรมที่ผ่านประวัติศาสตร์มานานนับร้อยปีนั้น ต้องยอมรับว่าจำนวนไม่น้อยที่ซ้ำซากน่าเบื่อราวกับว่าตอกย้ำถึงการเกาะเกี่ยวกับความงามและสุนทรียะเชิงอนุรักษ์นิยมที่ไม่อาจจับต้องและแปรเปลี่ยนได้ ทั้งที่ในโลกของความเป็นจริงและล้วนแต่เป็นสิ่งอุปโลกน์ที่ปากว่าตาขยิบแทบทั้งสิ้น

วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2550